WIWM ย่อมาจาก When I Watch Movie ซึ่งเต้ยสร้างพาร์ทนี้ขึ้นมาเพื่อบันทึกและบอกเล่าหนังต่าง ๆ ที่เต้ยได้ดูมา จะไม่ใช่รีวิว ไม่ใช่วิจารณ์ และไม่ใช่แนะนำหนัง แต่คือทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับหนังอยู่ที่ว่า ณ โมเมนต์นั้นเต้ยอยากเขียนแบบไหน (ฮ่าๆ)
คำเตือน : บทความนี้อาจมีเล่าถึงเนื้อหาของหนังเรื่อง First They Killed My Father
เตือนแล้วนะ!! เตือนแล้วนะ!! เตือนแล้วนะ!! เตือนแล้วนะ!! เตือนแล้วนะ!!
//เสียงเชฟป้อม
เพราะในทุก ๆ สงครามที่เกิดขึ้นสร้างความสูญเสียอย่างไม่มีสิ่งใดมาทดแทนได้ และสร้างความทรงจำฝังใจของผู้รอดชีวิตจากสงครามที่ไม่อาจลืมเลือน และในภาพยนตร์เรื่อง First They Killed My Father (2017) เป็นภาพยนต์ที่สร้างขึ้นจากเรื่องจริงของสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของกลุ่มเขมรแดง (หนังใช้คำว่า อังการ์) ในประเทศกัมพูชาที่เกิดขึ้นในปี 1975-1979 และต้องมีผู้ถูกสังเวยชีวิตไปเป็นจำนวนกว่า 3 ล้านคน คิดเป็น 1 ใน 4 ของประชาชนทั้งหมดในสมัยนั้น
ถ้าหากใครที่สนใจประวัติศาสตร์หรือพอจะรู้เรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในยุคเขมรแดงบอกเลยว่าหนังเรื่องนี้เข้าใจได้ไม่ยาก แต่ถ้าไม่ใช่สายนี้ดูเอาเพลิน ๆ เรื่องนี้ก็ไม่ติด ดูได้เรื่อย ๆ ไม่ต่างจากหนังแนวสงครามเรื่องอื่น
ภาพยนตร์เรื่องนี้บอกเล่าเรื่องราวผ่านสายตาของเด็กหญิงสาวคนหนึ่งที่ชื่อว่า ‘หลวง’ เขาเติบโตในกรุงพนมเปญ พ่อเป็นทหาร มีพี่น้องร่วม7คน ความเป็นอยู่ของครอบครัวค่อนข้างดี มีเสื้อผ้าสวย ๆ ใส่ มีของเล่นตามวัย และได้กินของดี ๆ แต่แล้วก็เกิดเหตุการณ์ทางการเมืองขึ้นกลุ่มเขมรแดงรุกรานเข้ามายังในกรุงพนมเปญ (ในพิ้นที่ที่ครอบครัวเค้าอาศัยอยู่) ไล่จับเอาคนไปกักขังในค่ายของตัวเอง โดยทุกคนต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบคอมมิวนิสต์ภายใต้การปกครองของกลุ่มเขมรแดงทุกอย่าง สมบัติของมีค่าใด ๆ ก็ต้องยกให้พวกเค้าทั้งหมด ไม่มีคนจน ไม่มีคนรวย และทุกคนต้องอยู่ในชนชั้นกรมาชีพ ถูกใช้แรงงานอย่างหนักไม่ว่าจะเป็นเด็ก หรือ ผู้ใหญ่ ถ้าเป็นเด็กก็ต้องไปทำการเกษตร ปลูกข้าว ปลูกผัก โตขึ้นมาหน่อยก็ไปเป็นทหารมีหน้าที่คอยเฝ้าดูว่ากองทัพเวียดนามจะบุกเข้ามาเมื่อไหร่
มื่อทุกคนเดินทางไปถึงค่ายแล้ว สิ่งแรกที่ทุกครอบครัวต้องทำคือสร้างที่อยู่ที่พักและถูกสั่งให้ย้อมสีเสื้อผ้าจากเปลือกไม้ให้เป็นสีเดียวกันทั้งหมด ในระหว่างที่อยู่ในค่ายกักขังทุกคนต้องทำงานหนักแต่ได้รับอาหารเพียงกระจิริด วันหนึ่งจู่ๆกลุ่มคนของอังการ์ได้เดินเข้ามาในค่ายแล้วพูดว่า ‘อังการ์ ต้องการเด็กวัยรุ่นที่แข็งแรงไปเป็นทหารหน่วยสู้รบ’ ทำให้พี่ชาย2คนของหลวงต้องพลัดจากครอบครัวไปทำตามคำสั่งของอังการ์ ผ่านไปอีกไม่กี่วันครอบครัวของหลวงก็เจอกับเหตุการณ์ที่ต้องพลัดพลากเป็นครั้งที่สอง เมื่ออังการ์ต้องการให้พ่อของหลวงไปช่วยงานซ่อมสะพาน ทำให้ ณ เวลานี้ผู้เป็นแม่เปรียบเหมือนเสาหลักของบ้านไปโดยปริยาย ต้องดูแลหลวงกับพี่น้องที่ยังเหลืออยู่ นับวันยิ่งอดยากมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องด้วยทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ผู้เป็นแม่จำใจต้องให้หลวงและพี่น้องอีก2คน (โจวกับคิม) เดินทางไปยังค่ายใช้แรงงานเพื่อที่จะได้มีชีวิตอยู่รอด
เมื่อทั้งสามเดินทางไปถึงค่ายใช้แรงงาน แพทเทิร์นของที่นี่ก็เหมือนกับที่แรกนั่นแหละ แต่ที่พิเศษหลวงและพี่น้องของเค้า ได้มีโอกาสไปฝึกเป็นทหารในค่ายนั้น และเหตุการณ์ต่อจากนี้ไปคือการต่อสู้ดิ้นรนเพื่ออิสรภาพ พี่น้องในครอบครัวนี้และประชาชนจะรอดจากสงครามกี่ชีวิต แล้วจุดสิ้นสุดของสงครามครั้งนี้จะจบลงเช่นไร ไปหาคำตอบได้ที่ Netflix
โดยรวมแล้วภาพยนตร์เรื่องนี้ถือว่าทำออกมาได้ดีและเป็นในแบบของแอนเจลินา โจลีอยู่แล้วการเดินเรื่องค่อนข้างช้า เล่าไปแบบยาว ๆ และที่สำคัญผลงานการกำกับของแอนเจลิน่า โจลี น่าจับตามองเป็นอย่างมาก เพราะน้อยนักที่จะได้เห็นนักแสดงผันตัวมาเป็นผู้กำกับ และตัวน้องคนที่รับบทเป็นหลวง เต้ยได้ไปอ่านหาข้อมูลเพิ่มเติมมาน้องเขาอายุเพียงแค่ 9 ปี แต่ถ่ายทอดความเป็นหลวงได้ออกมาค่อนข้างทึ่ง ทำให้คนดูคล้อยตามไปได้อย่างไม่น่าเชื่อ เป็นอีกเรื่องที่ควรค่าแก่การดูจริง ๆ
และในครั้งต่อไปเต้ยจะมาแนะนำหนังหรือซีรีส์เรื่องไหน ต้องรอติดตามดูอย่างใกล้ชิด สำหรับบทความนี้ต้องขอลาไปก่อน ‘สวัสดีค้าบบบบ’