สวัสดีค่าทุกคน วันนี้ซามะมีแอนิเมชันของญี่ปุ่นที่ยอดเยี่ยมและน่าดูสักครั้งหนึ่งในชีวิต ซึ่งเป็นเรื่องราวของไอดอลสาวที่เปลี่ยนไปเป็นนักแสดง และพบเหตุการณ์แปลกๆ ที่ทำให้เธอเกิดความกลัวและหวาดระแวง หนังเรื่องนี้เผยมุมมืดและความเจ็บปวดอีกมุมหนึ่งของดารานักร้องที่สอดคล้องกับประเด็นในวงการบันเทิงปัจจุบัน นอกจากจะพูดถึงประเด็นสังคมและยังมีประเด็นจิตวิทยาเข้ามาด้วย หนังที่ซามะจะมาให้ดูมีชื่อว่า Perfect Blue เธอกับฉันและฝันของเรา (1997) ผลงานการกำกับของ คอน ซาโตชิ ที่มีการเล่าเรื่องราวและการตัดต่อที่แปลกใหม่ และหนังเรื่องนี้ก็มีอิทธิพลต่อผู้สร้างภาพยนตร์ในฮอลลีวูดอีกด้วย ใครพร้อมอ่านแล้วเลื่อนนิ้วเลยจ้า เชิญเลยยย (การรีวิวนี้เป็นความเห็น และความรู้สึกส่วนตัวของซามะนะคะ ผิดพลาดประการใดขออภัยล่วงหน้าจ้า)
เรื่องย่อ
‘คิริโอเกะ มิมะ’ ไอดอลสาวสมาชิกวง CHAM ถึงแม้ว่าจะเดบิวต์มาและมีฐานแฟนคลับที่ติดตามผลงานของวง แต่ก็ยังไม่โด่งดังตามที่บริษัทคาดไว้ เอเจนซี่ได้มาทาบทามมิมะให้ผันตัวจากไอดอลไปเป็นนักแสดงเพื่อให้มีชื่อเสียงบนจอเงิน ‘รูมิ’ ผู้จัดการส่วนตัวของวง CHAM ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอนี้เพราะกลัวว่าบทบาทการแสดงที่มิมะได้รับจะไปทำลายภาพลักษณ์ไอดอลที่สั่งสมมาเป็นเวลานาน แต่มิมะตอบตกลงและตัดสินใจจบการศึกษา (ยุติบทบาทไอดอล) เพื่อหาความก้าวหน้าในอาชีพนักแสดงแทน
มิมะได้รู้จักกับเว็บไซต์ ‘ห้องของมิมะ’ ที่แฟนคลับทำขึ้นโดยจะเป็นเรื่องราวส่วนตัวของมิมะที่ถูกเขียนขึ้นอย่างละเอียกว่าเธอทำอะไร ไปที่ไหน และรู้สึกอย่างไรในแต่ละวัน เนื้อหาในเว็บทำให้มิมะเริ่มวิตกแล้วว่าใครกำลังสอดส่องแอบมองเธอโดยที่เธอไม่รู้ตัวกัน และในช่วงเวลาเดียวกับที่กำลังเรียนรู้งานด้านการแสดงก็มีเรื่องที่น่าขนลุก น่ากลัว จนถึงกับมีเหตุฆาตกรรม ยิ่งทำให้มิมะรู้สึกสับสนและหวาดระแวงกับสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวเธอ
แอนิเมชันไซโคทริลเลอร์ที่เล่าเรื่องและตัดต่ออย่างมีชั้นเชิง
Perfect Blue เป็นภาพยนตร์ที่กำกับโดย คอน ซาโตชิ เรื่องราวที่นำเสนอนั้นดัดแปลงมาจากนิยายที่มีชื่อว่า Perfect Blue: Complete Metamorphosis ซึ่งเขียนโดย ทาเคอุจิ โยชิคาสุ ในฉบับภาพยนตร์มีการเพิ่มเติมแต่งเนื้อหาไปและมีการตัดต่อที่ท้าทายผู้ชมในการวิเคราะห์เรื่องราวว่าเป็นความฝัน หรือความจริง ซึ่งการตัดต่อแนวนี้กลายเป็นลายเซ็นเฉพาะตัวของ คอน ซาโตชิ Perfect Blue ยังได้ โอโตโมะ คัทสึฮิโระ ผู้กำกับที่ฝากผลงานแอนิชันสุดอลังการอย่าง Akira อสูรชีวะ (1988) มามีส่วนร่วมในโปรเจกต์นี้อีกด้วย หลังจากไปฉายตามเทศกาลภาพยนตร์ต่างๆ Perfect Blue ได้รับรางวัลภาพยนตร์เอเชียยอดเยี่ยมและแอนิเมชันยอดเยี่ยมจากเทศกาลภาพยนตร์แฟนตาเซียที่มอนทรีออลในปี 1997 ไม่เพียงเท่านั้นภาพยนตร์เรื่องนี้ยังเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้กำกับ ดาร์เรน อโรนอฟสกี ในการสร้างภาพยนตร์รางวัลออสการ์อย่าง Black Swan (2010) อีกด้วย
ตีแผ่มุมมืดที่เหล่าไอดอลต้องพบเจอ
หากเราคิดจากมุมมองทางสังคมและวัฒนธรรมโดยเฉพาะในแวดวงไอดอลของญี่ปุ่น Perfect Blue ถือว่าตีแผ่ออกมาได้หลายประเด็นเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นความเป็นส่วนตัวของดารา แฟนคลับ/แฟนด้อม และความอึดอัดที่จะต้องทำงานที่ได้รับมอบหมายโดยที่ใจอยากจะปฏิเสธ แต่ประเด็นของเรื่องที่ชัดเจนมากๆ คือ ‘เรื่องสตอล์กเกอร์’ นั่นเอง การชื่นชอบศิลปิน การเป็นแฟนคลับของนักร้องดาราที่ชอบเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ที่จะหลงใหลรักใคร่คนคนหนึ่ง แต่จะมีคนบางกลุ่มที่รักและหลงใหลในตัวศิลปินมากเกินจนถึงขนาดรุกล้ำความเป็นส่วนตัว ทำร้ายร่างกายหรือทำให้หวาดกลัวก็เคยเกิดขึ้นบ่อยๆ อย่างในตัวหนังเองก็มีการพูดถึงแฟนคลับของมิมะที่ตั้งตัวเองเป็น ME-Mania
ซึ่งจริงๆ น่าจะเรียกได้เต็มปากว่าเป็นสตอล์กเกอร์ (คนที่พฤติกรรมชอบสะกดรอยตาม และติดตามความเคลื่อนไหวของบุคคลหนึ่ง) เลยก็ว่าได้ เพราะคนๆ นี้คอยติดตามไปที่ต่างๆ ที่มิมะไป ทั้งคอนเสิร์ต ซุปเปอร์มาร์เก็ต รวมถึงกองถ่าย โดยสรุปแล้วเหตุการณ์นี้เป็นสิ่งที่หนังสื่อสารมายังเราว่าภัยอันตรายของไอดอลอาจมาในรูปแบบแฟนคลับหรือมาอยู่ในโลกของอินเทอร์เน็ตก็ได้เช่นกัน พวกเราเองก็คงเคยเห็นข่าวในอินเทอร์เน็ต หรือในทีวีเรื่องวีรกรรมของเหล่าสตอล์กเกอร์ที่ล้ำเส้นศิลปินจนเกินขอบเขตของความเป็นส่วนตัว มิมะที่ผันตัวไปเป็นนักแสดงตามความต้องการทำให้แฟนคลับรู้สึกผิดหวัง และรับไม่ได้กับการตัดสินใจของเธอที่ออกจากวง บางทีแฟนคลับคงลืมไปว่าเธอเองก็เป็นคนธรรมดาคนหนึ่งที่มีความต้องการอยากจะทำและอยากจะเป็นซึ่งอาจจะไม่ถูกใจใครหลายๆ คน
โรคทางจิตเวช : สภาวะจิตใจที่มีผลต่อการใช้ชีวิต
Perfect Blue พาคนดูเข้าไปทำความรู้จักและเห็นภาพกับโรคทางจิตเวชที่มีชื่อว่า ‘โรคหลายบุคลิก’ หรือ Dissociative Identity Disorder (DID) โรคนี้ถูกพูดถึงในฉากที่มิมะกำลังแสดงหนังเรื่อง Double Blind โดยรับบทเป็นตัวละครสมทบ ซึ่งบทที่เธอพูดในฉากจะมีการฉายซ้ำสองรอบ รอบแรกคือเธอพูดชื่อ มิมะ ซึ่งเป็นชื่อของตัวเองจริงๆ ก่อนที่ภาพจะตัดกลับมาเป็นบทพูดของตัวละครในหนังที่แสดง โรคหลายบุคลิก คือ อาการป่วยทางจิตใจที่ผู้ป่วยจะมีบุคลิกเพิ่มขึ้นมามากกว่าหนึ่งคนขึ้นไป โดยตัวตนกับบุคลิกของเราจะสลับกันปรากฏตัว มิมะเองหลังจากที่เจอเหตุการณ์เลวร้ายที่ส่งผลต่อสภาพจิตใจทั้งคดีฆาตกรรม ความเครียด และความกดดันต่างต่างนานาหลังจากผันตัวเป็นนักแสดง ทำให้เธอแยกแยะความเป็นจริงและภาพหลอนไม่ออก รวมถึงอดคิดไม่ได้ว่าอาจจะมีอีกหนึ่งตัวตนที่มาจากจิตใจของเธอเป็นคนสร้างปัญหาและความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นก็ได้
สิ่งที่น่าสนใจคือการที่หนังนั้นเล่าเรื่องราวให้คนดูคิดไประหว่างดูว่าเรื่องไหนคือเรื่องจริง เป็นเพียงภาพหลอน เป็นเค้าลางในอนาคต หรือเป็นแค่จินตนาการที่มิมะสร้างขึ้นมากันแน่ อันนี้คือซามะชื่นชมเลย ชอบมากๆ มันต้องตั้งใจดูถึงจะพอปะติดปะต่อเรื่องราวได้ โทนสีและบรรยากาศในหนังสามารถพาเราเข้าถึงอารมณ์ได้ประมาณหนึ่ง ตอนเราดูเรารู้สึกได้ถึงความเสียดาย ความผิดหวัง ความหวาดกลัว จิตหลอนของตัวละคร ที่เราชอบอีกอย่างคือแก่นของเรื่องที่พูดถึง ‘ตัวตน’ ได้ดีมาก เพราะตัวละครมิมะสื่อให้เห็นถึงผลจากการที่ไม่ยอมเป็นตัวของตัวเอง การที่เธออยากประสบความสำเร็จในอาชีพนักแสดงจนถึงขนาดยอมถ่ายฉากที่ 18+ และถ่ายแบบนู้ดเพื่อเป็นการสร้างภาพลักษณ์ และโชว์ความเป็นมืออาชีพในวงการนั้นแม้ว่าเธอเองจะไม่ได้อยากทำแบบนั้นสักเท่าไหร่ ก็ต้องฝืนยิ้มและทำตามบทบาทที่ได้รับมาซึ่งมันก็ย้อนมาส่งผลให้จิตใจของเธอนั้นย่ำแย่ และรู้สึกผิดหวังกับตัวเองอย่างมาก
ใครยังไม่ไปดูก็ลองเปิดประสบการณ์รับชมกับแอนิเมชันเรื่อง Perfect Blue เธอกับฉันและฝันของเรา (1997) กันนะคะ ซามะขอรับรองด้วยรางวัลแฟนตาเซีย และการตัดต่อที่เล่าเรื่องได้ไฉไลมากๆ ค่า ขอบคุณทุกคนที่อ่านบทความของซามะจนจบนะคะ สามารถเข้าไปอ่านบทความอื่นได้ โดยคลิ๊กที่ชื่อ ซามะ เรื่องหน้าจะเป็นแนวไหนต้องติดตามเท่านั้น! วันนี้ขอลาไปก่อน สวัสดีค่า