รีวิวหนัง The Hand of God: หัตถ์พระเจ้า

The Hand of God

ภาพยนตร์อิตาเลียนที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายรางวัลออสการ์สาขาหนังต่างประเทศปีนี้ The Hand of God เป็นหนังใหม่ของผู้กำกับ เปาโล ซอเรนติโน คนทำหนังอิตาเลียนที่โด่งดังในระดับนานาชาติมานับสิบปี กลายเป็นหน้าเป็นตาของศิลปินภาพยนตร์อิตาลีร่วมสมัย ทั้งตามงานเทศกาลหนังต่างๆ รวมทั้งเขาเคยได้รับรางวัลออสการ์สาขาเดียวกันนี้ไปแล้วเมื่อปี 2014 จากหนังเรื่อง The Great Beauty

The Hand of God

ไม่แปลกใจหากคนดูไทยส่วนใหญ่อาจจะไม่คุ้นชื่อ เพราะหนังของซอเรนติโนก่อนหน้านี้แทบไม่เคยเข้าฉายในโรงไทย แต่ข่าวดีในยุคสตรีมมิ่ง คือ The Hand of God ลงใน Netflix มาหลายเดือนแล้ว และน่าจะเรียกคนดูได้อีกระลอกเมื่อหนังได้เข้ารอบสุดท้ายรางวัลออสการ์

The Hand of God เป็นหนังประเภทที่ขนบทางยุโรปเรียกว่า bildungsroman หมายถึงนวนิยาย (หรือหนัง) ที่พูดถึงช่วงเวลาการเติบโตทางจิตวิญญาณของคนหนุ่มสาว เมื่อตัวตนของเขาถูกทดสอบและประกอบสร้างขึ้น เรียกง่ายๆ ก็คือหนังอัตชีวประวัติ หรือเรียกแบบภาษาเพจหนังสมัยนี้ก็คือหนัง comingofage

The Hand of God

ด้วยฉากหลังของเมืองเปีลส์ทางใต้ของอิตาลีและเรื่องราวของครอบครัวชนชั้นกลางของตัวเอกในยุคทศวรรษที่ 1980 The Hand of God ไม่ได้ปิดบังว่านี่คือหนังส่วนตัวว่าด้วยชีวิตในช่วงวัยรุ่นของผู้กำกับเอง เล่าผ่านตัวละครเด็กหนุ่มชื่อ ฟาบิเอตโต (แสดงโดย ฟิลิปโป สก๊อตตี้ ดาราอิตาลีผู้มีหน้าตาละม้าย ทิโมธี ชาลาเมต์) ทั้งความสัมพันธ์ของเขากับพ่อ แม่ ลุง ป้า น้า อา ในครอบครัวใหญ่เอะอะมะเทิ่งตามสไตล์อิตาเลียน ทั้งประสบการณ์ทางเพศอันน่าพิศวง และความฝันอยากเป็นคนทำหนัง ล่วงเลยไปถึงโศกนาฏกรรมที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของฟาบิเอตโตตลอดไป

The Hand of God

ออกตัวก่อนว่าที่ผ่านมา ผู้เขียนไม่ได้เป็นแฟนหนังของผู้กำกับ เปาโล ซอเรนติโน สักเท่าไหร่ คือได้ดูแทบทุกเรื่อง แต่มักจะจูนคลื่นไม่ตรงกัน 100 เปอร์เซ็นต์ หนังของเขามักจะมีความประดิดประดอย มีจริตแบบละครอิตาลี มีความพยายามจะเป็นเฟเดริโก เฟลลินี่ (ผู้กำกับตำนานของอิตาลี) แต่มักจะไม่มีความลึกซึ้งของอารมณ์ความรู้สึก แม้กระทั่ง The Great Beauty หนังดังที่สุดของซอเรนติโน ผู้เขียนก็รู้สึกว่ามันเว่อร์วังและหมกมุ่นกับตัวเองจนเกือบจะเกินงาม

The Hand of God

ที่ว่ามาเช่นนั้นก็เพื่อจะบอกว่า สำหรับ The Hand of God ผู้เขียนปรับคลื่นได้ตรงกับแรงสั่นไหวของหนังมากกว่า และรู้สึกอบอุ่น โหวงเหวง และมีความหวังไปพร้อมๆ กับตัวละครฟาบิเอตโต ความน่ารำคาญที่เคยรู้สึกในหนังเรื่องอื่นๆ ของผู้กำกับคนนี้ มาคราวนี้กลับไม่ดูเสแสร้ง แต่มีความจริงใจและน่าเชื่อ ทั้งบรรดาตัวละครญาติพี่น้องของพระเอก รวมทั้งสถานการณ์ที่ต้องเผชิญ หนังมีฉากดีๆ หลายฉาก เช่นตอนที่พระเอกไปหาผู้กำกับหนังคนดังที่เป็นไอดอลของเขา หรือฉากที่พระเอกไปตามหาพี่ชายที่เกาะในตอนท้าย ที่สำคัญคือการแสดงของฟิลิปโป ในบทฟาบิเอตโต ที่ทำให้ตัวละครนี้มีมิติ เป็นคนหนุ่มที่มองอนาคตของตัวเองอย่างมีความหวัง แต่กลับแฝงไว้ด้วยความโศกสลดลึกๆ ราวกับคนที่รู้ว่าชีวิตไม่เคยคลี่คลายออกมาอย่างที่เราคาดหวังเลย

The Hand of God

แล้วชื่อหนัง The Hand of God มาจากไหน? ในหนังก็บอกชัดอยู่แล้วในฉากที่คนในครอบครัวของฟาบิเอตโต กำลังชมการถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 1986 ที่เม็กซิโก ในแมทช์ประวัติศาสตร์ระหว่างอาร์เจนตินากับอังกฤษ แมทช์ที่จารึกด้วยการที่ดิเอโก มาราโดนา เอามือปัดบอลเข้าประตูในจังหวะคลุมเครือ และจากนั้นเขาให้สัมภาษณ์อย่างภูมิใจว่าประตูนั้นคือ The Hand of God หรือ หัตถ์พระเจ้า

The Hand of God

ถ้าจะให้เดา เชื่อได้ว่าผู้กำกับซอเรนติโน น่าจะฝังใจกับเหตุการณ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลในวันนั้น (คนอิตาลีบ้าบอลไม่แพ้ชาติใด) แต่คำว่า The Hand of God ที่กลายเป็นชื่อหนังอิงชีวประวัติของตัวเอง น่าจะหมายถึง ชะตาชีวิตที่คาดเดาไม่ได้ ราวกับมีมือที่มองไม่เห็นคอยพลิกผันเส้นทางชีวิตของคนเรา อะไรที่เคยคิดว่ามั่นคง แน่นอน อาจจะไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป ความฝัน ความหวังที่เคยมี บางสิ่งอาจไปได้ไกลกว่าที่เราคิด แต่บางสิ่งอาจะไม่มีวันเกิดขึ้น อันเป็นบทเรียนชีวิตที่ฟาบิเอตโตไดรับรู้และเติบโตไปกันมัน

มาดูกันว่า The Hand of God จะทำให้ เปาโล ซอเรนติโน ได้ออสการ์ตัวที่สองหรือไม่ และจะฝ่าด่านตัวเต็งอย่าง Drive My Car จากญี่ปุ่น ได้หรือไม่